ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว วาระประเทศไทย ครั้งที่ 5 “ปชป. กับนโยบายแก้หนี้ประชาชนและการพัฒนาระบบการเงิน” และ “ปชป.จัดเต็ม ! ดันระบบรางทั่วไทย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ – ปิดประตู “ประมูลเอื้อเอกชน” โดย ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.กระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการนโยบายและทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่ง และโครงการขนาดใหญ่ (Megaproject) และดร.มโนชัย สุดจิตร ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ณ ห้องประชุม ชั้น 3 พรรคประชาธิปัตย์ อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.กระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการนโยบายและทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายเรื่องการพัฒนาระบบการเงิน ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. จะพัฒนาและยกระดับเมืองหาดใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติในภูมิภาค ในโลกทุกวันนี้มีศูนย์กลางการเงินอยู่หลายที่ อาทิ นิวยอร์ก ลอนดอน สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งด้วยศักยภาพของหาดใหญ่ถ้าได้รับการสนับสนุนทางนโยบายจะสามารถดันให้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติในภูมิภาคได้ พัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งถ้าทำได้จะดึงเม็ดเงินจาก ทุนจีน อาหรับ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และอินเดียจะเข้ามา เราต้องพัฒนาให้มีการเชื่อมต่อกับสิงคโปร์โดยรถไฟฟ้าความเร็วสูง พัฒนาสนามบินนานาชาติ หาดใหญ่มีโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว อยู่แล้วดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาลจะทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เช่น ภาษีอากร ให้เอื้ออำนาย อย่างน้อยต้องไม่ด้อยไปกว่าสิงคโปร์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม อินเตอน์เน็ต ดาต้าเซ็นเตอร์ แก้ไขระบบการทำงานของศาล การพิพากคดีการเงินให้เทียบชั้นกับนานาชาติได้เพื่อให้มีความเชื่อมั่น มีพื้นที่ทำเป็น Financial District เชื่อว่าการเป็นศูนย์กลางการเงินจะเป็น s curve สร้างหาดใหญ่ให้รุ่งเรืองในอนาคต

2. ส่งเสริมและพัฒนาให้มีธนาคารท้องถิ่นเกิดขึ้น เพราะท้องถิ่นทั่วประเทศเริ่มจากกทม. อบจ. อบต. และเทศบาลต่างๆ มีเงินฝากและเงินเก็บจำนวนมากมาย เพราะแต่ละปีเขาถูกกฎหมาย และระเบียบการคลังท้องถิ่นบังคับว่าจะต้องทำงบประมาณแบบเกินดุล จึงมีเงินสะสมมากมายฝากตามธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร พรรคประชาธิปัตย์จะตรากฎหมายให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อพัฒนาท้องถิ่นโดยให้ท้องถิ่นต่างๆเป็นผู้ถือหุ้น รัฐบาลไม่ต้องใส่เงินเลย โดยหน้าที่หลักคือ เป็นแหล่งระดมทุนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะยาว ไม่ว่าจะทำเรื่องของระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ สามารถออกพันธบัตรท้องถิ่น (LGB: Local Gov Bonds) ได้เหมือนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาตลาดทุน และเป็นแหล่งเงินในการพัฒนาท้องถิ่น

เรื่องที่ 3 จัดตั้งธนาคารสหกรณ์ โดยปัจจุบันมีเงินในรูปแบบสหกรณ์ต่างๆไม่น้อยกว่า 3.3 ล้านล้านบาท เงินในสหกรณ์ออมทรัพย์ยังมีมากกว่าธนาคารเอสเอ็มอี หรือธนาคารออมสิน แต่ทุกวันนี้ไม่มีการบริหารจัดการอย่างได้มาตรฐานสากล ปชปจึงจะเสนอจัดตั้งให้เป็นรูปแบบธนาคารสหกรณ์ พรรคประชาธิปัตย์จะเอื้ออำนวยการตั้งธนาคารสหกรณ์ โดยออกกฎหมายในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ต้องใช้เงินของรัฐบาล ไม่มีการก่อหนี้สาธารณะ ยกฐานะชมรมสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ขึ้นมาเป็นธนาคารเพื่อที่เงินต่างๆจากสหกรณ์2000 แห่งจะได้รวมศูนย์และใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

ดร.พิสิฐ กล่าวต่อถึงเรื่องนโยบายแก้หนี้ประชาชน โดยหนี้ครัวเรือนเป็นความเดือดร้อนของประชนที่สาหัสหลายพรรคการเมืองกล่าวถึงและพยายามจะแก้ไข ด้วยนโยบายต่างๆ ที่ทำให้ระบบการเงินอ่อนแอ และจะไม่มีเงินใหม่เข้ามาเช่น จะพักหนี้ 3-5 ปี ไม่ใช้บริการเครดิตบูโรมาทำงาน ไปแทรกแซงการทำงานในภาคธุรกิจการเงิน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยและไม่ทำอย่างนั้น โดยเราจะทำให้ระบบเข้มแข็งขึ้น ไม่อ่อนแอลง พรรคประชาธิปัตย์มีเป้าหมายจะลดหนี้ครัวเรือนให้ต่ำกว่า 80% จากปัจจุบันใกล้ 90%ของจีดีพีให้ได้ในระยะอันสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยจะปลดล็อกกฎหมาย 3 ฉบับ เพราะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารการเงินของสมาชิก รวมถึงอัดฉีดเงินผ่านธนาคารหมู่บ้าน/ชุมชน การเพิ่มทุน SME โครงการ 1 ล้านล้านบาทอัดฉีดเงินเข้าเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวกว่า5% ประชาชนก็มีรายได้มากขึ้นมาผ่อนคลายปัญหาหนี้สินได้

สำหรับหนี้ครัวเรือนนั้นมี 2 ก้อนใหญ่ คือ 1. หนี้ของผู้มีเงินเดือน และ 2.หนี้ของเกษตรกร เราจะหาเงิน ประมาณ 9 แสนล้านบาทมาปลดหนี้ของผู้มีเงินเดือน โดยเอาเงินมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยจะปลดล็อคให้เอาเงินออกมาใช้ได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท สำหรับสมาชิก 2.8 ล้านคน เพื่อลดหนี้บ้าน ซื้อบ้าน และปลดล็อคกองทุนกบข.ของข้าราชการ เปิดทางให้ครู หรือตำรวจที่เดือดร้อน สามารถเอาเงินจากกบข.ที่เป็นเงินเขาเองมาลดหนี้บ้าน ซื้อบ้าน เป็นเงินประมาณ 1 แสนล้าน รวมทั้งหมด 3 แสนล้านบาท จะช่วยคนได้ประมาณ 4 ล้านคน ที่จะแบ่งเบาลดภาระหนี้ ดอกเบี้ยลดลง โดยไม่ต้องรอปีที่จะเกษียณอายุถึงจะนำเงินออกมาได้ รวมไปถึงจะปลดล็อคสหกรณ์ออมทรัพย์ให้นำทุนเรือนหุ้นสหกรณ์ไปตัดหนี้ที่มีกับสหกรณ์นั้นๆได้ โดยจะแก้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ เพียงแต่ 1 มาตรา คือแก้ พรบ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาตรา 5 ให้สามารถนำเงินกองทุนมาจัดหาที่อยู่อาศัยได้, แก้ พรบ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาตรา 43/1 ให้สามารถนำเงินกองทุนมาจัดหาที่อยู่อาศัยได้ และแก้ พรบ สหกรณ์ มาตรา 42 ให้สามารถนำหุ้นสหกรณ์มาหักลดหนี้สินเชื่อของสหกรณ์นั้นๆได้

“ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องไม่ยอมทำอย่างจริงจังในการแก้หนี้ให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งที่ประชาชนเดือดร้อน ข้าราชการเดือดร้อน ผู้บริหารประเทศกลับไม่ใส่ใจดูแลเรื่อนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะมาดูแล เพียงแก้กฎหมายมาตราเดียวเท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำเรื่องนี้เพื่อช่วยประชาชน ถ้าข้าราชการหรือครูเดือดร้อนย่อมส่งผลต่อการทำงาน การสอนเด็กและเยาวชนแน่นอน ปัญหาหนี้ครูต้องได้รับการแก้ไข เพราะระบบเราไม่เอาใจใส่ครู เราต้องให้ครู ข้าราชการมีสมาธิในการทำงาน โดยการปลดล็อคกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ”
ดร.พิสิฐ กล่าว

ดร มโนชัยกล่าวต่อไปว่า ในส่วนการแก้หนี้เกษตรกรนั้น พรรคประชาธิปัตย์ เล็งเห็นความสำคัญของเกษตรกร และต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน พร้อมๆกับอัดฉีดทุนก้อนใหม่เพื่อการฟื้นฟูและปรับประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร โดยมีนโยบายดังนี้ 1.ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยนำหนี้ของ ธ.ก.ส และรวมถึงหนี้สหกรณ์การเกษตรและกองทุนหมู่บ้าน (ที่ยินยอมขายหนี้ให้ธ.ก.ส.) มาจัดแบ่งชั้น ตามศักยภาพรายคนเป็นสามส่วน แบ่งเป็น ส่วนที่ 1 ลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพ ที่เป็นเกษตรกรสูงวัย มีอายุมากเกิน 65 ปี หรือทุพลภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้แล้ว มีอยู่ประมาณ 300,00 ราย มีมูลหนี้ประมาณ 70,000 ล้านบาท จะยกหนี้ให้แก่เกษตรกรผู้สูงอายุ เป็นการตอบแทนคุณความดีที่ผลิตสินค้าให้เป็นอาหารแก่คนไทยมาอย่างยาวนาน โดยตัดเป็นหนี้สูญ ซึ่งธกส. สำรองหนี้ดังกล่าวครบแล้ว และมีเงินกองทุนอยู่ประมาณ 420,000 ล้านบาท จึงไม่กระทบฐานะทางการเงินแต่ประการใด

ส่วนที่ 2 ลูกหนี้ที่พอมีศักยภาพ และยังประกอบอาชีพเกษตร แต่มีภารหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านราย มูลหนี้ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท จะแปลงมูลหนี้แต่ละรายเป็นหุ้นที่ธ.ก.ส. ถือไว้แต่มีสัญญาขายคืนหุ้นดังกล่าว ให้คืนแก่ลูกหนี้ภายใน 10 ปี ขณะที่เม็ดเงินที่จะลงทุนใหม่จะให้ในรูปการทำธุรกิจร่วมกัน โดย ธ.ก.ส. เปลี่ยนบทบาทจาก เจ้าหนี้ เป็น “คู่คิดคู่ทำร่วมเสี่ยงกับเกษตรกร” (Partnership) แทนเป็นผู้ให้สินเชื่อ (Lender) แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มาเป็นผู้ร่วมทุน ส่วนที่3 คือลูกหนี้ที่มีศักยภาพ สามารถเลือกเข้าโครงการเช่นเดียวกับกลุ่มพอมีศักยภาพ หรือใช้บริการสินเชื่อตามปกติของธกส.ต่อไป โดยธ.ก.ส.ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ผู้กู้กลุ่มดังกล่าวที่มี Net margin ให้ต่ำกว่า 1.0 %

2. ปรับบทบาทของธกส.ให้เป็นสถาบันเพื่อการพัฒนาชนบท เพื่อให้มีบทบาทนอกจากเป็นผู้บริการทางการเงินแบบคู่คิดคู่ร่วมเสี่ยงกับเกษตรกรและชุมชน (Financial Partnership Provider) ในภาคชนบทแล้ว จะยกระดับเป็นที่ปรึกษาการเงิน (Financial advisory) ช่วยจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านโดยจัดหาแหล่งเงินทุนให้ด้วย สำหรับการขับเคลื่อนตามบทบาทใหม่ของธกส.จะใช้เงินจากแหล่งเงินทุนของธ.ก.ส. ซึ่งปัจจุบันมีสภาพคล่องทางการเงินรองรับการดำเนินงานประมาณ 4 แสนล้านบาท และจากการให้รัฐบาลชำระหนี้ตามโครงการจำนำข้าวและประกันรายได้เกษตรกรที่เป็นหนี้ประมาณ 8 แสนล้านบาท รวมเป็นประมาณ 1.2 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอ โดยไม่ต้องพึงงบประมาณภาครัฐ

ทั้งนี้จากการยกหนี้ให้แก่เกษตรกรผู้สูงอายุและการแปลงหนี้เป็นทุนประมาณ 1.27 ล้านล้านบาท จะลดหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศลงได้มากกว่า 8% ของจีดีพี และการเปลี่ยนบทบาท ธกส. เป็นธนาคารพัฒนาชนบทตามแนวคิด “คู่คิดคู่ร่วมเสี่ยงกับเกษตรกรและชุมชน” จะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ทำให้เกิดการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวมแบบยั่งยืนไม่ต่ำกว่าปีละ 1.0% ช่วยให้เกษตรกรที่สูงวัย ทุพลภาพ ประมาณ 3 แสนราย ที่ถูกตัดหนี้เป็นหนี้สูญ หลุดพ้นจากความทุกข์ยากจากการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของประชาชนในชนบท