เมื่อวันที่ 2 ก.พ. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการวิจัยและการประดิษฐ์ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ จัดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนำประเทศ” ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ Event Hall 100-102 : ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (สถาบันจัดการสวนสัตว์) เข้าร่วมจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “พานกเงือกกลับบ้าน” โดย นายมงคล ส่งเสริมเจริญโชติ ทั้งนี้มีนักเรียนชั้นมัธยมตอนต้น และ มัธยมตอนปลาย ให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก ภายในกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ร่วมสนุกเป็นการเรียนรู้วิธีการหาอาหารของนกเงือก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก ที่เป็นกลไกสำคัญในการบ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด จากนั้นเป็นการให้ความรู้ผ่านกิจกรรมการทำการ์ดรูปนกเงือก เพื่อส่งกลับสู่นักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรม

ทั้งนี้ องค์การสวนสัตว์ฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการการฟื้นฟูนกเงือกผ่านงานวิจัย โดยฝึกฝนให้นกเงือกสามารถหาอาหารได้เองได้ ก่อนปล่อยให้นกเงือกสู่ป่าธรรมชาติ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เอง อีกทั้งได้ร่วมกับนักวิจัยศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ช่วยกันปีนซ่อมแซม ปรับปรุงโพรงรังของนกเงือกที่ชำรุด เสียหาย ให้กลับมาเหมาะสมที่นกเงือกสามารถใช้ออกไข่ เลี้ยงลูกได้ในฤดูกาลทำรัง

สำหรับนกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ที่อยู่ในวงศ์ Bucerotidae ในอันดับนกตะขาบ (Coraciiformes) (บางข้อมูลซึ่งเป็นข้อมูลเก่าจะจัดให้อยู่ในอันดับ Bucerotiformes ซึ่งเป็นอันดับเฉพาะของนกเงือกเอง แต่ปัจจุบันนับเป็นชื่อพ้อง โดยนับรวมนกเงือกดินเข้าไปด้วยเป็นนกที่เชื่อว่าถือกำเนิดมานานกว่า 45 ล้านปีมาแล้ว

ลักษณะนกเงือก เป็นนกป่าขนาดใหญ่ ที่มีจุดเด่น คือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำส่วนใหญ่ลำตัวมีสีขาวดำหางยาว ปีกกว้างใหญ่ บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้า ๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารเสริม ทำรังในโพรงไม้ ตัวเมียจะเข้าไปกกไข่ในโพรงโดยใช้โคลนและมูลปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้ยื่นส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมาและจากจะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้น ทำให้นกเงือกถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่าง ๆ

การทำรังของนกเงือก มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ภายในเพื่อออกไข่และเลี้ยงลูก

นกเงือก เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ประการหนึ่ง เนื่องจากจะอาศัยอยู่ในป่าหรือพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่านั้น เนื่องจากนกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก กินทั้งผลไม้และสัตว์เป็นอาหาร อีกทั้งธรรมชาติในการหากินต้องอาศัยพื้นที่ป่าที่กว้างและยังเป็นตัวแพร่กระจายพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ ในป่าได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากเป็นนกที่กินผลไม้ชนิดต่าง ๆ ได้ถึง 300 ชนิด และทิ้งเมล็ดไว้ตามที่ต่าง ๆ

พบทั่วโลกมี 55 ชนิดใน 14 สกุล มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปแอฟริกา และเอเชีย ประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ด้วยกัน โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา มี 4 ชนิด ได้แก่ นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ และนกแก๊ก หรือนกแกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบ 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงือกปากย่น นกเงือกชนหิน นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย (สถาบันจัดการสวนสัตว์) ยังให้ความรู้เพิ่มเติมแก่นักเรียนและผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกว่า ใน 13 กุมภาพันธ์ เป็น วันรักนกเงือก โดย เมื่อปี 2547 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันรักนกเงือก” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือก ที่เป็นกลไกสำคัญในการบ่งชี้ว่าป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด

ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 ผู้ร่วมงานจะได้พบนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมากกว่า 1,000 ผลงาน นิทรรศการ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ, นิทรรศการ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ, นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากหน่วยงานเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ, มหกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ IPITEx 2024, นิทรรศการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน Thailand New Gen Inventors Award 2024 : I-New Gen Award 2024, กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนานักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ โซนตลาดสินค้าและนวัตกรรมจำหน่ายในราคาพิเศษ นิทรรศการ Highlight Zone เช่น นิทรรศการ The Survival game ตะลุยแดนภัยพิบัติ ที่นำเสนอเกมส์หนีภัยสึนามิในโลกเสมือนจริง นิทรรศการ Fruit Fun Fair ผลไม้หรรษา ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ส้มโอฉายรังสี ทุเรียน Fresh cut ฯลฯ และ การเสวนาและฝึกอบรม มากกว่า 100 หัวข้อ เช่น การเสวนาในหัวข้อการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการประดิษฐ์คิดค้น การฝึกอบรมอาชีพ ลงทะเบียนและดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://inventorsday.nrct.go.th

ผู้สนใจสามารถแวะชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 2-6 กุมภาพันธ์นี้ ที่ ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา