คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีสาธารณะ “อวสานทีวีเด็กไทย! ยอมแพ้ หรือ ไปต่อ”  เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสื่อโทรทัศน์สำหรับเด็ก อันเป็นผลสืบเนื่องจากที่สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวี หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว ตัดสินใจยุติการออกอากาศ และคืนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ในขณะที่สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีอื่น ๆ ก็ให้พื้นที่แก่รายการเด็กเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ทั้งที่มีการสำรวจข้อมูลพบว่า เด็กไทยยังคงรับสื่อโทรทัศน์เป็นสื่อหลักอยู่

ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทย ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างมาก เพราะทำให้ปริมาณของสื่อสำหรับเด็กและเยาวชนมีน้อยลง ทั้งที่เด็กและเยาวชนอยู่ในวัยที่กำลังเรียนรู้ และต้องการสื่อที่ช่วยหล่อหลอม พัฒนาความรู้ ความคิด ค่านิยม ทัศนคติต่าง ๆ ทางคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ จึงร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้ขึ้นเพื่อร่วมกันหาทางออกของสื่อโทรทัศน์ของเด็กและเยาวชน รวมถึงการขยายไปสู่พื้นที่สื่ออื่น ๆ สำหรับเด็กและเยาวชนต่อไป

ทางด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวเป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีมากที่ได้ร่วมมือกับคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจุดประเด็นให้สังคมหันมาตระหนักถึงปัญหานี้ร่วมกัน

ในเวทีสาธารณะครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านเด็กและด้านสื่อมวลชน 5 ท่าน  ประกอบด้วย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ คุณภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ (น้านิต สโมสรผึ้งน้อย) คุณดวงรัชต์ แซ่จิว ตัวแทนผู้ปกครอง และ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านนโยบายสื่อ

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์กรมหาชน)กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ได้แสดงความเห็นในส่วนของ สื่อเพื่อเด็ก สร้างสรรค์ สร้างคนสร้างชาติว่า ในทุกวันนี้เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่าถึงแม้จะมีโซเชียลมีเดียเข้ามาแทนที่สื่อต่างๆมากขึ้น แต่ด้วยระบบอะไรต่างๆ และการจัดการบอกได้เลยว่ายังไม่ชัดเจนและไม่เสถียรอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นทีวีหรือโทรทัศน์ จึงยังเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้คนเข้าถึงสื่อต่างๆได้มากขึ้น ในตอนนี้ถึงแม้ว่าจะมีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อช่วยในเรื่องสื่อ แต่จุดเน้นในการพัฒนาเด็กในบ้านเราก็ยังไม่แข็งแรงพอ ขอยกตัวอย่างในต่างประเทศในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะมีช่องสำหรับเด็กในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก เพราะเขาต้องการที่จะพัฒนาบุคลากรตั้งแต่เด็ก ให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต แต่บ้านเรายังมีน้อยมาก และยังอยู่ในช่วงที่ไม่เหมาะสมด้วยซ้ำ อีกทั้งผู้ผลิตก็กังวลในเรื่องของสปอนเซอร์ และการวัดเรทติ้งทำให้มีข้อจำกัดของรายการ

สิ่งที่หมอต้องการอยากฝากถึงในตอนนี้ และอยากให้เกิดผลได้โดยเร็วคือ ในเมื่อตอนนี้ได้เกิดกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้นมาแล้ว จึงอยากให้ทางกองทุนฯเป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนในทางด้าน Content Base และอยากให้ กสทช เป็นผู้ที่ให้คลื่นความถี่ช่องสำหรับเด็กมาเลย แล้วเป็นการเปิดประมูลในลักษณะของการประมูลในด้านคุณภาพ ไม่ใช่ประมูลกันที่ตัวเงิน โดยใช้กลไกในระบบของ Media Watch เป็นตัวชี้วัดในเรื่องของการทำงาน เพราะฉะนั้นผู้เข้าประมูลจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องของผังรายการ และคุณภาพของสื่อ ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเป็นผู้ให้เงินทุนในการผลิตและสร้างสรรค์ และใช้คลื่นความถี่จาก กสทช รวมไปถึงโฆษณาที่เกิดขึ้นก็จะต้องเป็นการโฆษณาที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพต่อผู้ชม ไม่มีผลกระทบต่อเด็ก  เพื่อที่จะสามารถนำผลงานที่เกิดขึ้นในตรงนี้สามารถต่อยอดไปสู้แพลตฟอร์มอื่นๆ ในยุคของดิจิทัลได้ เพราะ กสทช เองก็สามารถทำได้อยู่แล้วในตัวอย่างที่กล่าวไปคือ การเปิดประมูลในเรื่องของคุณภาพซึ่งสามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ

หมอจึงอยากฝากไปถึง กสทช และกองทุนสื่อฯ ให้ช่วยพิจารณาตรงจุดนี้ เพราะในอนาคตเด็กในวันนี้ จะกลายเป็นแรงงานผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า ภาครัฐจึงควรตระหนักตรงจุดนี้ให้มากขึ้น เพราะในปี 2573 แรงงานจะมีลักษณะ 2 ต่อ 1 ทำให้เห็นว่า GDP ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นรัฐและภาคีที่มีส่วนร่วมจะต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญในจุดนี้ จะต้องมีการตื่นตัวในการที่จะผลักดันในเรื่องสื่อสำหรับเด็กให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะเป็นรากฐานในการสร้างสังคมและประเทศชาติให้แข็งแกร่งและมีคุณภาพต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กเป็นรายการหนึ่งที่มีมาตั้งแต่แรกก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ของไทย แต่กว่า 60 ปีที่ผ่านมา เส้นทางของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กในเมืองไทย ไม่มียุคใดที่เป็นยุคทอง มีแต่ช่วงที่เสมอตัว และช่วงที่วิกฤติหนัก บางยุค แม้ดูเหมือนว่ามีโอกาสดีขึ้น เช่น ยุคที่มีการประกาศปีเด็กสากล ที่ทำให้เมืองไทยสนใจเรื่องสื่อสำหรับเด็กมากขึ้น หรือการมีระเบียบให้จัดช่วงเวลารายการสำหรับเด็ก รวมถึงการเกิดขึ้นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การเกิดขึ้นของสถานีโทรทัศน์บริการสาธารณะแห่งแรกของไทยอย่างไทยพีบีเอส และการเกิดขึ้นของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ก็เป็นแรงสนับสนุนให้รายการเด็กมีพื้นที่ในสถานีโทรทัศน์มากขึ้น แต่หากมองภาพรวมของภูมิทัศน์สื่อแล้ว รายการสำหรับเด็กของไทยก็แทบจะไม่มีพื้นที่ แม้ในปัจจุบัน จะมีประกาศของ กสทช. ให้สถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีระบบดิจิตอลทุกช่องต้องมีรายการเด็กและครอบครัวทุกวัน อย่างน้อยวันละ 60 นาที แต่ในความเป็นจริง กลับไม่ใช่เช่นนั้น แม้แต่ในช่องทีวีหมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัวเอง ก็ไม่สามารถมีพื้นที่ให้รายการเด็กของไทยมากอย่างที่หวัง ยิ่งเมื่อโทรทัศน์ต้องต่อสู้แข่งขันในทางธุรกิจที่สูงมาก รายการสำหรับเด็กจึงยิ่งมีสัดส่วนและพื้นที่น้อยลงเรื่อย ๆ หลายคนอาจเข้าใจว่าเด็กไม่รับชมโทรทัศน์แล้ว แต่ในความเป็นจริง เราควรดูภาพรวมของทั้งประเทศ สื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนไทยได้เป็นอันดับหนึ่ง เป็นสื่อที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และสามารถสร้างเป็นกิจกรรมร่วมในครอบครัวได้ ที่สำคัญ มีผลสำรวจออกมาว่า เด็กจำนวนมากยังคงรับชมสื่อโทรทัศน์เป็นหลักอยู่ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย 3-5 ปี ที่รับสื่อโทรทัศน์เป็นอันดับหนึ่ง

หลายประเทศในโลกมีทีวีช่องเด็กโดยเฉพาะ เพราะเห็นความสำคัญของการลงทุนเพื่อพัฒนาเด็ก ซึ่งคือการลงทุนเพื่อพัฒนาสังคมที่เกิดผลอย่างแท้จริง ธุรกิจโทรทัศน์ทั่วโลกล้วนกำลังประสบปัญหา แต่เขาไม่เลือกไม่ปิดช่องเด็ก อย่างบีบีซีเอง แม้จะปิดโทรทัศน์บางช่องไป แต่ยังคงมีช่องเด็กอยู่ และยังเพิ่มงบประมาณให้มากขึ้นด้วย เพื่อพัฒนารายการเด็กให้สู้กับสื่ออื่น ๆ ได้ และเพิ่มการพัฒนาสื่อออนไลน์ให้เป็นสื่อที่ใช้ประกอบเสริมเนื้อหาในรายการโทรทัศน์ เพราะเขามองว่า แนวทางสำหรับสื่อเด็กในอนาคต คือ การพัฒนาหลากหลายสื่อควบคู่กันไป มีสื่อเด็กในทุก ๆ แพลตฟอร์มอยู่รอบตัวเด็ก เพื่อตอบสนองเด็กทุกที่ทุกเวลา และทุกเรื่องที่เด็กสนใจอย่างแท้จริง

สำหรับท่านต่อมาซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกเบิกรายการสำหรับเด็กในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ คือคุณภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ หรือ น้านิตหรือย่านิตแห่งสโมสรผึ้งน้อย โดยน้านิตได้ให้ความเห็นว่า การสร้างสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็กวันนี้ เป็นเหมือนการปลูกเมล็ดไทรลงในดินดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องรอนานต้นอ่อนก็จะแทงยอดโผล่ขึ้นมาให้เห็น แต่ที่ต้องรอนานหน่อยก็คือการรอวันให้ต้นอ่อนเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาเป็นต้นไทรใหญ่ที่งดงาม พวกเรามีความอดทนและใจเย็นพอที่รอดูสถานีโทรทัศน์เด็กเติบโตไปพร้อมกับเด็กเด็กของเราไหม? เราต้องทำทีวีเด็กให้เป็นเหมือนกับการปลูกต้นไทร ไม่ใช่ปลูกต้นหอมผักชีแบบที่ผ่าน ๆ มา เปรียบเทียบอย่างนี้พวกเราเห็นภาพเลยไหมการมีสถานีโทรทัศน์ช่องเด็ก คือการทำให้เด็กในประเทศนี้มีตัวตน มีความหมาย  ซึ่งน้านิตได้มีการพูดคุยกับเด็กปี3 เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ว่าถ้ามีทีวีช่องเด็ก คิดว่าสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ขอ 3 ข้อ คุณคิดว่าเยาวชนคนนี้จะตอบว่าอย่างไร เขาตอบว่า

ข้อ1. เด็กจะมีความสุข

ข้อ2. เด็กจะดีและเก่งมากขึ้น ถ้าได้ดูรายการที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับวัย

ข้อ3. คนทั้งประเทศจะรู้สึกว่า ต้องให้ความสำคัญกับเด็กมากขึ้น ถ้าทีวีให้ความสำคัญกับช่องเด็ก

เด็กจะมีความสุขอย่างไร เด็กจะเก่งมากขึ้นอย่างไร คนทั้งประเทศจะรู้สึกว่าต้องให้ความสำคัญไหมพวกเรามองภาพออกแน่นอน โดยน้านิตได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมเป็นความเห็นของ ครูชีวัน วิสาสะ นักวาดและ นักเล่านิทาน และผู้ให้กำเนิดนิทาน ‘อีเล้งเค้งโค้ง” ขวัญใจเด็กๆ ว่า “จอเด็ก จอดี สิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แค่มีภาพเคลื่อนไหวมาให้เด็กนั่งดู การที่จะเกิดช่องทีวีสำหรับเด็กนั้นต้องเริ่มจากหัวใจอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้ใหญ่ เกิดจากการรวมตัวของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์หลายสาขามาร่วมสร้างสรรค์รายการหลากหลายรูปแบบเพื่อนำสิ่งดี ๆ ผ่านจอสู่เด็ก ๆ ซึ่งเมื่อส่งต่อสิ่งดี ๆ ออกไปถึงบ้าน จอเด็ก จอดี ก็จะเป็นจอรวมจิตเชื่อมใจของทั้งครอบครัว ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้น พ่อแม่ ผู้ใหญ่รับรู้เรียนรู้เรื่องราวที่สื่อถึงเด็กผ่านวิธีการสื่อสารที่ออกแบบกลั่นกรองอย่างเหมาะสม

ภาพใหญ่ที่เราจะได้เห็นคือการรวมคนรวมมันสมองเพื่อสร้างชาติผ่านช่องทีวีสำหรับเด็ก…ที่ต้องใช้เวลาใช้การสั่งสมบ่มเพาะส่งต่อความคิดสร้างสรรค์ก่อให้เกิดความดีงามในสังคมทั้งปัจจุบันสู่อนาคต อย่าให้เด็กที่โตไปแล้วคิดได้ว่า ‘ทำไมผู้ใหญ่ไม่คิดทำอะไรให้เราเลย?’ มนุษย์ผู้ใหญ่ทั้งหลายลงทุนไปกับโครงสร้างทางวิศวกรรมสังคมเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตของผู้ใหญ่ทั้งหลายโดยไม่มีเด็กอยู่ในสายตามานานมากแล้ว และควรคิดถึงเด็กอย่างจริงจังอย่างมุ่งมั่นตั้งเป้าว่าจะต้องทำให้ได้ ก็คงไม่มีอะไรมาขวางได้หากมีความจริงใจไร้ความคิดแฝงในทางร้ายหรือมุ่งแสวงประโยชน์ส่วนตน โปรดช่วยกันคิด…ถ้ามนุษย์ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง มีศักยภาพที่จะทำให้เกิดช่องทีวีสำหรับเด็กไม่สามารถทำให้สำเร็จก็เป็นเรื่องน่าเศร้า” น้านิตได้ยกตัวอย่าง

ทางด้านตัวแทนผู้ปกครอง คุณดวงรัตน์ แซ่จิว ซึ่งเป็นคุณแม่หนึ่งท่านได้ให้ความเห็นว่า ในมุมมองของผู้ปกครองหรือคนเป็นแม่ อย่างแรกเลยเราต้องการให้ลูกของเราเติบโตมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ อยากให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี รวมไปถึงการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ซึ่งเวลาว่างของเด็กในปัจจุบันนี้ก็คือการใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดียต่างๆเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันนี้พบว่าสื่อทางช่องทางเหล่านี้ ไม่ได้มีการคัดกรองที่ดีเท่าที่ควร เด็กได้รับแต่ภาพที่มีความรุนแรง ทัศนคติที่ค่อนข้างเป็นลบ เพราะฉะนั้นเราคิดว่า การมีสื่อที่ดีสำหรับเด็กผ่านช่องทางโทรทัศน์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะอย่างน้อยเด็กจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมไปถึงอยู่ในสายตาของผู้ปกครอง พร้อมทั้งการมีพัฒนาการที่ดีอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ ทำให้มองย้อนกลับไปถึงตัวเอง เมื่อในอดีตเราก็เคยเป็นเด็ก และเราพบว่าเราเติบโตมาในยุคที่ได้รับสื่อสำหรับเด็กในแง่มุมดีๆ มีความสุขกับการใช้ชีวิต เช่นช่วงเวลาวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เวลา 8.00 น. คือเวลาที่เราตั้งตารอเพื่อจะได้รับชมการ์ตูน ทำให้เราอยากตื่นเช้าเพื่อมาดูการ์ตูน ซึ่งดูแล้วก็ได้ซึมซับเรื่องดีๆจนอยากทำตาม ดังนั้นในฐานะแม่ เราจึงอยากให้มีสื่อที่ดีสำหรับลูก ให้เด็กมีพัฒนาการประสาทสัมผัสทั้ง 5 เพื่อที่จะสามารถแยกแยะในการรับสื่อที่ดี และไม่ดีได้ด้วยตนเอง เพื่อที่เค้าจะสามารถเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่จะช่วยพัฒนาประเทศ เพราะเค้าต้องเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าแทนเรา จึงอยากเรียกร้องให้มีพื้นที่สื่อสำหรับเด็ก เพื่อที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ

สำหรับท่านสุดท้าย ดร.สิขเรศ สิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อและนโยบายสื่อ  ได้แสดงความเห็นในส่วนของ การเกิดขึ้นและคืนช่องเด็ก ทีวีดิจิทัลเกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัยเริ่มตั้งแต่ผู้ควบคุม นักออกแบบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กสทช. นักวิชาการ หน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกแบบโมเดลนี้ขึ้นจากอุดมคติของผู้เกี่ยวข้อง แต่ขาดการมองด้านการตลาด รวมทั้งไม่สำรวจและศึกษาพฤติกรรมผู้ชมผ่านโลกที่แท้จริง

การที่ช่องเด็กที่หายไปทั้งหมดนี้ขอเรียกว่าความล้มเหลวของอุดมคติที่เกิดขึ้น เมื่อย้อนไปในอดีต ผู้ร่วมออกแบบทีวีดิจิทัลทุกฝ่ายตั้งช่องนี้ขึ้นมาโดยหวังให้เป็นช่องที่พัฒนากลุ่มเด็ก เยาวชน และครอบครัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ช่องนี้ไม่สามารถทำกำไร หรือรายได้เป็นไปตามที่คาดหมาย ทำให้ผู้ประกอบการเลือกที่จะทิ้งช่องนี้เป็นลำดับแรก ทั้งที่ในความเป็นจริงก่อนการประมูล ผู้ประกอบกิจการหลายช่องเชื่อว่าจะสามารถทำรายได้ให้ช่องนี้ไม่ต่างจากช่องการ์ตูนทีวีดาวเทียมที่ได้รับความนิยม รวมถึงจะมีรายได้จากโฆษณากลุ่มผลิตภัณฑ์ขนม นม ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องเข้ามา แต่ลืมคิดไปว่าในความเป็นจริง งบการตลาดของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ส่วนใหญ่นำไปใช้จัดกิจกรรม หรืออีเวนท์ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น รองลงมาไปอยู่กับสื่อออนไลน์ และสื่อทีวีเป็นอันดับสุดท้ายการทำช่องเด็กในช่วงแรกอาจดูเป็นเรื่องง่าย เพียงแค่ซื้อการ์ตูน หรือรายการอื่น ๆ มาไว้ในช่อง ก็อาจทำให้มีรายได้ แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการต้องเข้าใจก่อนว่าช่องเด็กคือช่องที่มีไว้เพื่อเด็กและเยาวชน ดังนั้นเนื้อหาก็ควรผลิตเพื่อเด็ก ที่ผ่านมามีรายการเด็กในประเทศไทยที่น่าสนใจจำนวนมากแต่ยังขาดการสนับสนุนที่ดี รวมทั้งยังไม่มีมาตรการที่จะจูงใจด้านผลประโยชน์ให้ผู้ประกอบกิจการที่อยากทำช่องดี ๆ เพื่อสังคมอย่างช่องเด็ก เช่น การลดภาษี การช่วยแบ่งเบาภาระต่าง ๆ เป็นต้น

สำหรับการจัดงานเวทีสาธารณะในครั้งนี้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้คนในสังคมตระหนักถึงวิกฤติของสื่อเด็กในฐานะวาระสำคัญของชาติ และร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการขยายพื้นที่สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริงในสังคมไทย