นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 และประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหาร สสส. ลงพื้นที่เสริมพลังชุมชนบ้านปงใต้ ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านที่รับผิดชอบป้องกันการเกิดไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ว่า การเผาเป็นสาเหตุหนึ่งของมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM2.5 พื้นที่บ้านปงใต้ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ได้รับมอบหมายจากทางการเป็นผู้รับผิดชอบดูแลอุทยานแห่งชาติฯ บริเวณที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน เนื่องจากช่วงต้นปี จ.เชียงใหม่ จะเกิดไฟป่าและฝุ่น PM2.5 รุนแรงหลายพื้นที่ แต่ที่หมู่บ้านนี้กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เกิดไฟป่าขึ้นเลย มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ของจังหวัดอย่างมาก เพราะพื้นที่อุทยานแห่งชาตินี้อยู่ใกล้เทศบาลนครเชียงใหม่มากที่สุด หากเกิดการเผาจะส่งผลโดยตรงต่อเขตเทศบาลฯ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น อีกทั้ง สภาพพื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่ มีลักษณะเป็นแอ่ง อากาศระบายค่อนข้างยาก ทำให้หมอกควันที่เกิดขึ้นนิ่งอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานาน จนกว่าจะมีลมพัดพาออกไป ดังนั้น การควบคุมไม่ให้เกิดไฟป่า จึงสำคัญมากต่อคุณภาพชีวิตของชาวเชียงใหม่ 

“สสส. ให้การสนับสนุนชุมชนผ่านสภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นกลไกสำคัญในการป้องกันไฟป่า เพราะการเผาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติควบคุมยากที่สุด มีชุมชนอยู่ค่อนข้างเบาบาง สาเหตุไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่มาจากพื้นที่อื่น เข้ามาหาของป่าไปขาย บ่อยครั้งมีการเผาเพื่อความสะดวกแล้วไม่สามารถควบคุมได้ เกิดเป็นไฟลุกลาม เกิดฝุ่น PM2.5 จำนวนมาก การควบคุมไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงสำคัญมาก การที่ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากทางการให้มีบทบาทป้องกันและควบคุมไฟป่ายิ่งมีความสำคัญ เพราะหากเกิดเหตุไฟป่าแล้วต้องรอเครื่องมือ บุคลากรจากในเมือง  ไฟอาจลุกลามขยายวงเกินกว่าจะควบคุมได้” นายศรีสุวรรณ กล่าว 

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ สร้างองค์ความรู้ หรือเครื่องมือเครื่องไม้ที่ทันสมัยให้กับชาวบ้าน รวมถึงการอบรมที่เข้มข้นโดยร่วมมือกับกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มศักยภาพชุมชน เกิดเป็นการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา และได้รับการเสริมพลังจากภาครัฐและภาคีที่เกี่ยวข้อง จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนของการแก้ปัญหา ในส่วนของบ้านปงใต้อยู่ในเครือข่ายความร่วมมือของสภาลมหายใจเชียงใหม่ ผลลัพธ์สำคัญเชิงมาตรการ คือ ชุมชนมีส่วนร่วมออกแบบกลไก มาตรการลดการเผาในเชิงพื้นที่ ซึ่งการทำแนวกันไฟความกว้าง 8 เมตร และความยาว 5.5 กิโลเมตรที่ดำเนินการโดยชาวบ้านปงใต้ เห็นได้ชัดถึงการที่ชาวบ้าน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการออกแบบ 5-6 เดือนที่เปราะบางต่อการกระจายตัวของไฟป่าหรือไฟจุด ซึ่งชาวบ้านมีส่วนร่วมทำให้พื้นที่นี้ไม่ถูกเผา เป็นกลไกสำคัญที่ยืนยันถึงการทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ดูแลป่า

นายบุญศรี หม่อมป๊ะ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านปงใต้ ต.บ้านปง อ.หางดง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วงหน้าแล้งราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะนำชาวบ้านราว 70 – 80 คนมาช่วยกันทำแนวกันไฟ บริเวณสันเขาเชิงดอย เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ที่อยู่ในพื้นที่ของหมู่บ้าน มีระยะทางยาว 5.5 กิโลเมตร กว้าง 8 เมตร ด้วยการนำเครื่องเป่า ไม้กวาด คราดให้หญ้าและใบไม้แห้งออกไปตลอด 4 เดือนจนถึงพฤษภาคมจนกว่าฝนจะมา โดยมีการจัดตั้งศูนย์ในชุมชน ชาวบ้านจะสลับกันเป็นเวรลาดตระเวน คอยเฝ้าระวังไฟป่า เพราะชาวบ้านรู้ทางขึ้นทางลงของพื้นที่ดี เมื่อเกิดไฟขึ้น จากศูนย์เฝ้าระวังจะเข้าถึงจุดที่เกิดไฟไม่เกิน 15 นาที ก็สามารถเข้าถึงพื้นที่เพื่อช่วยกันดับไฟ หากเกินกำลังคนที่อยู่เวร จะแจ้งในไลน์กลุ่มขอกำลังเสริม ทุกคนก็จะมาช่วยกัน และหากไฟสูงเกิน 2 เมตร ก็ยังมีแนวกันไฟป้องกันไม่ให้ไฟลาม ซึ่งมาตรการนี้ ดำเนินการพร้อมกันทั้ง 11 หมู่บ้านของ ต.บ้านปง ทำให้จากเมื่อก่อนเขาลูกนี้เป็นเขาหัวโล้น กลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์