ปักหมุดโมเดลมหกรรมของดีเพชรเพลินดิน ช้อป กิน เที่ยว จบที่เดียว  OTOP จากกลุ่มจังหวัดเพชรสมุทรคีรี นำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว โดยตรงแบบถึงมือผู้บริโภค 19 -22 ก.ค. 61  ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ เผยเป็นกิจกรรมการตลาดในรูปแบบออฟไลน์ สร้างช่องทางการตลาดแนวใหม่รับผู้บริโภค ยุค 4.0

 

นางฉัตรพร ราษฏร์ดุษฎี  ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี

นางฉัตรพร ราษฏร์ดุษฎี  ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เดินทางมาร่วมทำพิธีเปิด มหกรรมของดีเพชรเพลินดิน ช้อป กิน เที่ยว จบที่เดียว เปิดเผยว่า  จังหวัดเพชรบุรีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์สู่ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ โดยเรามีโครงการเศรษฐกิจชุมชนครบวงจร “เพชรเพลินดิน” ที่หมายถึงการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นไปอย่างมีคุณค่าและเต็มไปด้วยความสุข ซึ่งนี่ก็คือความคิดของวัยรุ่นกลุ่ม YEC ที่เขาได้สะท้อนความต้องการมาอย่างมีคุณค่า ในการที่อยากจะเห็นบ้านเมืองของเขาได้มีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตในชุมชนหลากหลายสาขา เช่น เกษตร อาหารพื้นถิ่น สุขภาพ วัฒนธรรมฯ พร้อมดึงผู้รู้ ผู้มีความสามารถ อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาเป็นกำลังร่วมขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในเขตกลุ่มจังหวัด เพชรสมุทรคีรี (เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์) เพื่อส่งต่อต้นแบบการเรียนรู้นี้ให้ได้พัฒนาสู่วงกว้าง มุ่งกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้เติบโตถึงทุกภาคส่วนจนขยายทั่วทั้งประเทศ และก็จะนับเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลทางด้านการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น สานนโยบายรัฐบาลไทยนิยม ยั่งยืน อย่างต่อเนื่อง

นายสุเทพ สงวนคัมธรณ์ พัฒนาการจังหวัดเพชรบุรี

นายสุเทพ สงวนคัมธรณ์ พัฒนาการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า โครงการเศรษฐกิจชุมชนครบวงจร “บ้านเพชรเพลินดิน”  โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกับหน่วยงานกลุ่มจังหวัดเพชรสมุทรคีรี  โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนและหอการค้าจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.ประจวบคีรีขันธ์  จ.สมุทรสาคร จัดกิจกรรมการตลาดในรูปแบบออฟไลน์เพื่อสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ และเพิ่มช่องทางการขาย ยกระดับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ กิจกรรมต่างๆ ของโครงการจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีแนวทางในการพัฒนากลยุทธ์เพื่อสร้างช่องทางการตลาดใหม่ๆ ด้วยตนเอง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัดเพชรสมุทรคีรีให้ดำเนินไปด้วยความมีประสิทธิภาพในระยะยาว ซึ่งจะมีการจัดรอบทดลองตลาดสินค้าผู้ประกอบการจานวน 50 ราย ในวันที่ 19 -22กรกฎาคม 2561 เวลา 10.00 –20.00 น. ณ ศูนย์การค้า MBK Center บริเวณ MBK Avenue zone A กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์การค้าใจกลางเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติจึงเป็นโอกาสที่จะได้เผยแพร่ผลิตภัณฑ์จากฝีมือของคนไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก

 

นายวิษณุ ตราชูวณิช ประธานกิตติมศักดิ์ YEC หอการค้าจังหวัดเพชรบุรี ผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการเพชรเพลินดิน

นายวิษณุ ตราชูวณิช ประธานกิตติมศักดิ์ YEC หอการค้าจังหวัดเพชรบุรี ผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการเพชรเพลินดิน กล่าวว่า “ โครงการเพชรเพลินเดิน จะสามารถเคลื่อนพัฒนาผู้ประกอบการในเขตจังหวัด “เพชรสมุทรคีรี” ให้มีโอกาสในการที่จะเข้าถึงแหล่งในการพัฒนา ส่งเสริมและยกระดับพัฒนานวัตกรรมสินค้าให้กับผู้ประกอบการได้อย่างจริงจัง ด้วยหัวใจหลัก คือ โครงการนี้ จะต้องไม่ได้ทำเพียงแค่ต้นน้ำ แต่ต้องมองถึงกลางน้ำและปลายน้ำ สู่การหาช่องทางจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้ชุมชนได้สามารถมีตัวช่วยและพัฒนาได้ด้วยตนเองอย่างมีศักยภาพ และยั่งยืนอย่างแท้จริง”

1. นางฉัตรพร ราษฏร์ดุษฎี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี (ตรงกลาง) 2. นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจศูนย์การค้าบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (ซ้ายมือผู้ว่าฯ – คนที่ 1) 3. นายวิษณุ ตราชูวณิช ประธานกิตติมศักดิ์ YECหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี (ซ้ายมือผู้ว่าฯ – คนที่ 2) 4. นายเอกคณิต จันสว่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัทอีเว้นท์ จำกัด (ซ้ายมือผู้ว่าฯ – คนที่ 3) 5. ดร.ศรายุทธ แสนมี รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (ขวามือผู้ว่าฯ – คนที่ 1) 6. นายจำนงค์ ตันติรัตนโอภาส ประธานคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี (ขวามือผู้ว่าฯ – คนที่ 2) 7. นายสุเทพ สงวนคัมธรณ์ พัฒนาการจังหวัดเพชรบุรี (ขวามือผู้ว่าฯ – คนที่ 3)

ดร.ศรายุทธ แสนมี รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร   เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีความพร้อมทางด้านบริการวิชาการและมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้การสนับสนุนลงพื้นที่ให้คำแนะนำชาวบ้านได้ในครั้งนี้รวมแล้วกว่า100คน โดยเราวางแผนในการทำงาน ไว้ 5-6 กรอบงาน ทั้งเรื่องของ อัตลักษณ์ศิลปะและการออกแบบผลิตภัณฑ์ การแปรรูป การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ,การนำเสนอและการจัดจำหน่ายที่ครบวงจร เช่น อีเวนท์ เอ็กซ์โป ทั้งนี้เราไม่ได้ทำเพื่อการพัฒนาเฉพาะจุดพื้นที่เท่านั้น แต่เราต้องการสร้างต้นแบบของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และสามารถเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการอื่นๆเข้ามาดูได้ อีกทางหนึ่งตรงนี้เรายังถือเป็นโอกาสของนักศึกษาที่จะได้นำเอาความรู้ในห้องเรียนไปสู่ภาคปฏิบัติบนสภาพพื้นที่สังคมที่หลากหลาย ท้าทาย และยังเปิดโอกาสให้เขาได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการจริงๆ ตรงนี้ก็ถือเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า ภายใต้การบริการวิชาการ ที่ได้ตอบแทนผู้ประกอบการในชุมชนให้เขาเลยเส้นความยากจนและนำไปสู่ความอยู่ดีกินดี มั่งมีศรีสุข เกิดการท่องโดยชุมชน มีฐานรากเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย