สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.  ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2561 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และด้านวิศวกรรมศาสตร์   ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งประดิษฐิ์ด้วยระบบ Automation ให้ก้าวสู่ระดับนานาชาติ พร้อมขานรับนโยบาย   Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยมี ดร .นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ณ ห้องไดมอนด์ฮอลล์ ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ดร .นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ทาง ส.ส.ท. และหน่วยงานผู้สนับสนุนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี       โดยเป็นเวทีแห่งการสร้างสัมพันธภาพ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนักเรียน อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา        ที่สนใจในเรื่องวิทยาการหุ่นยนต์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เข้าแข่งขันในทุก ๆ ด้าน

ศ.กิตติคุณ ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล อุปนายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เปิดเผยว่า การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นกิจกรรมที่ ส.ส.ท. ดำเนินการจัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยได้รับเกียรติจากสถานีโทรทัศน์ NHK ประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นผู้จัดงานขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2536 เพื่อเป็นเวทีให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และด้านวิศวกรรมศาสตร์ ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ การลงมือทำ และการแก้ปัญหา ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชนที่เล็งเห็นความสำคัญของเยาวชนให้ได้มีโอกาสค้นหาและพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตนเอง อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติ

การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ได้รับความสนใจและการตอบรับจากผู้ที่ชื่นชอบวิทยาการหุ่นยนต์เป็นจำนวนมาก โดยปีนี้มีนักเรียนและนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 1,454 คน หรือ 453 ทีม และได้ทำการแข่งขันคัดเลือกเฟ้นหาผู้ที่ผ่านเข้าการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่สมาคมส่งเสริมและเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และผู้เข้าแข่งขันอย่างหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2561 จำนวน 4 ถ้วยรางวัล ได้แก่

  1. การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 25 เกมการแข่งขัน “หุ่นยนต์ลูกช่วงมังกรบิน”

  2. การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.-สพฐ. ยุวชน ครั้งที่ 18 เกมการแข่งขันที่ “หุ่นยนต์ Bit Racer”

  3. การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.-สพฐ. ยุวชน ครั้งที่ 18 เกมการแข่งขันที่ “Robo Rescue”

  4. การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. PLC Competition ครั้งที่ 13เกมการแข่งขัน “Robo Golf Hole-in-One”

  1. การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 25 เกมการแข่งขัน “หุ่นยนต์ลูกช่วงมังกรบิน”

กติกาการแข่งขันในปีนี้ ประเทศเวียดนาม เจ้าภาพจัดการแข่งขัน ABU: Asia-Pacific Robot Contest เป็นผู้กำหนดธีมแนวคิด และกติกา ซึ่งได้รับการดัดแปลงมาจากการละเล่นพื้นบ้านที่เรียกว่า “การโยนลูกช่วง” โดย ส.ส.ท.    ได้นำมาใช้เป็นกติกาในเกมการแข่งขัน

สำหรับในปีนี้ มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 53 ทีม โดยได้ทำการแข่งขันคัดเลือกให้เหลือ จำนวน 32 ทีม เพื่อผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ และผู้เข้าแข่งขันที่ทำคะแนนการแข่งขันได้ดีที่สุด จำนวน 8 ทีม จะได้เป็นตัวแทนในระดับอุดมศึกษาเข้าแข่งขันกับตัวแทนในระดับอาชีวะศึกษาในการแข่งขันหุ่นยนต์ เอบียู ชิงชนะเลิศประเทศไทย จัดโดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี เพื่อค้นหาผู้ชนะเลิศเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ ABU: Asia-Pacific Robot Contest ณ เมืองนินห์บิงห์ ประเทศเวียดนาม ต่อไป

  1. การแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.-สพฐ. ยุวชน ครั้งที่ 18 เกมการแข่งขันที่ “หุ่นยนต์ Bit Racer” และ “Robo Rescue”

เป็นการแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์ในระดับมัธยมศึกษา โดย ส.ส.ท. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีเกมการเกมแข่งขัน 2 เกม คือ การแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ และการแข่งขันหุ่นยนต์กึ่งอัตโนมัติ ทั้งนี้ กติกาการแข่งขันจะแตกต่างกันไปในแต่ละปีเพื่อให้การแข่งขันเกิดความสนุกสนาน ตื่นเต้นเร้าใจ และเป็นการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้แก่ผู้ที่เข้าร่วมในการแข่งขัน โดยที่ผ่านมาทีมผู้ชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ ส.ส.ท.-สพฐ. ยุวชน    จะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ อาทิ การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์โลก (World Robot Olympiad: WRO) การแข่งขันประดิษฐ์หุ่นยนต์โลก (World RoboCup) และการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติของยุวชน (World Robot Games: WRG)

สำหรับปีนี้ มีผู้สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน ฯ รวมจำนวนทั้งสิ้น 358 ทีม หรือ จำนวน 208 สถาบันการศึกษา แบ่งเป็นเกมการแข่งขัน “หุ่นยนต์ Bit Racer” จำนวน 171 ทีม และเกมการแข่งขัน “Robo Rescue” จำนวน 187 ทีม ที่ผ่านมาได้ทำการแข่งขันคัดเลือกโดยเกมการแข่งขัน “หุ่นยนต์ Bit Racer” ให้เหลือจำนวน 21 ทีม และเกมส์การแข่งขัน “Robo Rescue” จำนวน 24 ทีม เพื่อเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ