ตอนนี้เรามาตามรอยทวารวดี 4 จังหวัด กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เรามาเริ่มต้นตามรอยทวารวดีที่จังหวัดแรกเลยดีกว่า คือ จังหวัดกาญจนบุรี สถานที่แรกและที่เดียวถ้าพูดถึงเรื่องทวารวดีสถานที่ ที่ต้องไปคือ ปราสาทเมืองสิงห์ 

 จังหวัดนี้มีร่องรอยอารยธรรมทวารวดีเหลืออยู่ และมีอารยธรรมขอม ซึ่งเป็นยุคต่อมาหลังจากทวารวดีเสื่อมสลายลง โดยเฉพาะปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งเป็นปราสาทหินที่เปรียบเสมือนเพชรเม็ดงามยุคขอมของเมืองกาญจน์

 อุทยานประวัติศาสตร์ ปราสาทเมืองสิงห์ นั้น ไม่ควรพลาดชมโดยเด็ดขาด เพราะถือเป็นอีกไฮไลต์บนเส้นทางนี้

 ปราสาทเมืองสิงห์สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในพระพุทธศาสนา นิกายมหายาน รูปแบบคล้ายกับปราสาทที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1720-1780) กษัตริย์ขอมนักสร้างปราสาท กรมศิลปากรขุดพบโบราณวัตถุชิ้นสำคัญคือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพุทธรูปปางนาคปรก และพระนางปรัชญาปารมิตา ศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เราเดินรอบปราสาทเมืองสิงห์แล้วต้องทึ่งกับความศรัทธาในพุทธศาสนาของคนโบราณ


เรามาตามรอยทวารวดีกันต่อที่จังหวัดราชบุรี เมืองนี้ไม่ได้มีแค่โอ่งมังกร หรือที่พักสวยน่านอน ใน อ. สวนผึ้งเท่านั้น แต่ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ ราชบุรีคือขุมทรัพย์ของหลักฐานโบราณคดีที่สำคัญ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะยุคทวารวดีนั้นนับว่าน่าสนใจมาก

วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองราชบุรี วัดแห่งนี้ สันนิษฐานว่าเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ในยุคทวารวดีเช่นกัน แต่ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมขอมแพร่เข้ามาและมีอำนาจขึ้นแทน จึงได้มีการดัดแปลงศาสนสถานเดิมให้เป็นพระปรางค์แบบขอมที่สวยงาม และสร้างกำแพงศิลาแลงล้อมรอบดังที่เห็นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ยังเหลือร่องรอยทวารวดีให้ชมอยู่ เช่น ที่พระระเบียง มีพระพุทธรูปศิลปะทวารวดีหลายองค์ องค์ที่สำคัญคือพระพุทธรูปประทับยืน ปางแสดงธรรมทั้งสองพระหัตถ์ มีจารึกอักษรปัลลวะเช่นเดียวกัน เป็นคาถา “เย ธมฺมา” ซึ่งเป็นคาถาสำคัญในยุคนั้น

คาถา เย ธมฺมา ถือเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา แปลสรุปความว่า “ธรรมทั้งหลายล้วนเกิดแต่เหตุ” มีเรื่องเล่าตามพุทธประวัติว่า หลังได้ฟังคาถานี้ พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรจึงนับถือพระพุทธศาสนา เข้ามาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจึงนับถือกันเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ และนิยมจารึกไว้โดยมีนัยเพื่อประกาศพระพุทธศาสนาให้เผยแพร่ออกไป ทำให้เรามักพบคาถา เย ธมฺมาปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาในยุคแรก เช่นศิลปะทวารวดี ศิลปะศรีวิชัย รวมถึงที่วัดมหาธาตุแห่งนี้

เรามาต่อกันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ซึ่งรวบรวมหลักฐานโบราณคดีจากเมืองโบราณคูบัว เมืองที่สำคัญสมัยทวารวดี ใน จ. ราชบุรี

นำมาเก็บไว้ เช่น พระพุทธรูปดินเผา พระโพธิสัตว์ รวมถึงประติมากรรมรูปคน สัตว์ ยักษ์ มาร ที่ทำเป็นลวดลายประดับองค์เจดีย์ ประติมากรรมรูปพ่อค้าชาวตะวันออกกลาง ฯลฯ

สิ่งที่น่าสนใจในพิพิธภัณฑ์นี้อีกอย่าง คือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ศิลปะลพบุรี สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งพบเพียง 5 ชิ้นในประเทศ พระโพธิสัตว์องค์นี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า วัฒนธรรมจากขอมได้เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมทวารวดีที่เสื่อมอำนาจลง

  ⇓นั่งรถมาต่อกันที่สุดทายของจังหวัดราชบุรี คือพิพิธภัณฑ์จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว แทน จิปาถะภัณฑ์สถานฯ เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ตั้งอยู่บริเวณเมืองโบราณคูบัว

ชาวบ้านเล่าว่าในอดีตเมื่อฝนตก น้ำจะชะหน้าดินออกจนเห็นเศียรพระพุทธรูปกองเต็มไปหมด ชาวบ้านในอดีตไม่ทราบว่าเป็นของมีค่าทางประวัติศาสตร์จึงนำไปขาย

ปัจจุบันเหลือโบราณวัตถุบางส่วน ชาวบ้าน นำโดย ดร. อุดม สมพร จึงนำมาจัดแสดงให้ลูกหลานได้ดู และยังจัดแสดงวิถีชีวิตชาวไทยวน ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นที่นี่ไว้อย่างน่าชมด้วย เช่น วิถีการกิน การคลอด การอยู่ไฟ การทอผ้า ฯลฯ


 เราเดินทางต่อมาที่นครปฐม เพื่อชม พระปฐมเจดีย์ ซึ่งเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการหยั่งรากของพระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่ยุคทวารวดี ในช่วงที่เมืองโบราณคูบัว จ. ราชบุรีกำลังเติบโตรุ่งเรือง บริเวณพื้นที่ จ. นครปฐม เมืองนครชัยศรี ก็เริ่มก่อตัวและพัฒนาขึ้นเช่นเดียวกัน

ต่อมาเมืองนครชัยศรีเจริญถึงขีดสุดในช่วง พ.ศ. 1100 กระทั่งขึ้นแทนที่เมืองอู่ทอง (สุพรรณบุรี) ซึ่งเจริญอยู่ก่อนหน้า ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาของคนในเมืองนครชัยศรี ทำให้มีการสร้างพระประโทณเจดีย์ที่ใจกลางเมือง และสร้างพระปฐมเจดีย์อยู่ห่างออกมาราว 4 กม.

องค์พระปฐมเจดีย์ได้รับการบูรณะปรับปรุงมาหลายยุคสมัย การบูรณะครั้งสำคัญเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ท่านทรงเชื่อว่าเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์แรกแห่งสยามที่พระเจ้าอโศกมหาราชให้สร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ . 218 จึงตั้งชื่อว่า “พระปฐมเจดีย์” และโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา องค์เจดีย์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบจากจีน สูง 120.45 ม. นับเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในประเทศ

แต่ละวันมีผู้คนมากราบไหว้ไม่ขาดสาย โดยเฉพาะคนนครปฐมซึ่งถือว่าพระปฐมเจดีย์เป็นศาสนสถานคู่บ้านคู่เมือง


ต่อมาที่ จ. สุพรรณบุรี จังหวัดสุดท้ายของทริปนี้ เราเลือกมาเยี่ยมชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง ซึ่งเป็นที่รวบรวมโบราณวัตถุสมัยทวารวดีชิ้นเอกของประเทศ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็น “ไคลแมกซ์” ของการตามรอยครั้งนี้

บริเวณนี้ เดิมคือเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจรเข้สามพัน ราวพุทธศตวรรษที่ 5-9 มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย เปอร์เซีย และยุโรป ฯลฯ ต่อมาปลายพุทธศตวรรษที่ 11 อาณาจักรฟูนันล่มสลายลง อาณาจักรทวารวดีจึงเจริญขึ้นแทนโดยมีเมืองอู่ทองเป็นศูนย์กลาง มีการค้นพบเหรียญเงินสมัยพุทธศตวรรษที่ 12 จารึกคำว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” เป็นอักษรปัลลวะด้วย ซึ่งแปลว่า บุญกุศลของพระราชาแห่งศรีทวารวดี ต่อมาจึงกลายเป็นชื่อของยุคนี้นั่นเอง 

เมืองอู่ทองเป็นทั้งศูนย์กลางการค้า ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ในยุคนั้น จึงพบหลักฐานสำคัญจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะอมารวดีแบบอินเดีย ลูกปัดแก้ว เหรียญกษาปณ์ เหรียญโรมัน ซึ่งนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อู่ทอง

ชิ้นที่สำคัญชนิดพลาดชมไม่ได้ ได้แก่ ประติมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์สามรูปกำลังอุ้มบาตร-ซึ่งลายจีวรเป็นศิลปะอมารวดี พุทธศตวรรษที่ 4-10 นับเป็นหลักฐานบ่งชี้การเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคแรกเริ่ม และนับเป็นหลักฐานแสดงถึงอิทธิพลศิลปะอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เครื่องทองสมัยทวารวดี-นับเป็นเครื่องประดับทองคำที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อายุราว 1,200-1,600 ปี และธรรมจักรศิลาศิลปะทวารวดี ที่แกะลวดลายสวยงาม

นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุที่น่าสนใจ เช่น แผ่นดินเผารูปตัวคน รูปคนฟ้อนรำ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแต่งกายและการละเล่นในยุคนั้น ที่น่าแวะชมอีกอย่าง คือการจัดแสดงการก่อร่างสร้างเมืองอู่ทอง เป็นแบบมัลติวิชัน ซึ่งชวนตื่นตาตื่นใจดีทีเดียว

เป็นยังไงกันบางค่ะกับทริปเส้นทางตามรอยทวรวดี 4 หวัด กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ถือว่าอิ่มจุใจกันเลยทีเดียว ท่านไหนสนใจออกไปตามรอยทวารวดีแบบนี้ก็อย่าลืมพกหมวก พกร่มไปด้วยนะค่ะ เส้นทางดีๆใกล้กรุงเทพแบบนี้ต้องไม่ไปถือว่าพลาดมากสำหรับผู้ที่ชอบศึกษาเรื่องราวสมัยทวารวดี  คราวหน้าเราจะมีทริปดีๆแบบนี้มาให้ติดตามกันอีกนะค่ะ

ขอขอบคุณทริปดีๆ จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุพรรณบุรี  สำหรับทริป “เส้นทางตามรอยทวารวดี มีดีต้องโชว์”